โดยรุจน์ รฐนนท์

หากพูดถึงการวางแผนเศรษฐแห่งชาติของไทย ทุกท่านคงเคยได้ยินชื่อ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” หน่วยงานสำคัญที่เป็นฝ่ายจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2504 ปัจจุบันไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 แล้ว ส่วนสภาพัฒน์ ก็มีอายุกว่า 70 ปี นับจากการก่อตั้งในปี 2493 ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น เป็นคำที่มีการพูดกันมาก่อนมีการก่อตั้งสภาพัฒน์นานพอสมควร อย่างน้อยที่สุดก็มีหลักฐานย้อนไปถึงปี 2475 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสยามประเทศ
ในครั้งที่ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ในหอสมุดมหาวิทยาลัย บังเอิญได้พบกับหนังสือเรื่อง “ทวนอดีต” เหตุการณ์บางเรื่องที่บางคนสนใจจะรับรู้ ซึ่งเขียน และรวบรวมข้อมูลเรื่องน่าสนใจในอดีตของไทยไว้หลายเรื่อง เขียนโดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เป็นราชบัณฑิตคนสำคัญของไทย ซึ่งได้อธิบายเรื่องของการวางแผนเศรษฐกิจ รวมถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งสภาพัฒน์ ซึ่งน่าสนใจจะมาเล่าสู่กันฟังไว้ในที่นี้
ดร.วิชิตวงศ์ เขียนไว้ในหนังสือว่า แนวคิดเรื่องการวางแผนเศรษฐกิจ ปรากฎในเมืองไทยเป็นครั้งแรก หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดย หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร ได้นำเสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” เพื่อ “บำรุงความสุขของราษฎร” โดย “รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง” อย่างไรก็ตามแนวความคิดนี้ได้ถูกระงับไป เพราะความขัดแย้งทางการเมืองด้วยกลัวว่า เค้าโครงเศรษฐกิจจะทำให้เมืองไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์ เหมือนสหภาพโซเวียตในขณะนั้น


“เพื่อให้การวางแผนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ถูกต้อง ควรจะมีการตั้งคณะสำรวจเศรษฐกิจเล็กๆ ขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อศึกษาเศรษฐกิจของไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจสภาพและโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยได้อย่างจริงจัง”

ต่อมา… เมื่อคณะสำรวจของธนาคารโลกเข้ามาในไทยในปี 2500 ครม.ในขณะนั้น จึงตั้งให้มีคณะกรรมการขึ้นมา ชื่อว่า “คณะกรรมการร่วมมือกับคณะสำรวจเศรษฐกิจของธนาคารโลก” หรือชื่อย่อว่า “ก.ส.ธ.” ทำหน้าที่ดูแลการประสานงาน และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับธนาคารโลกในการสำรวจเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน มี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ เป็นประธานกรรมการ