ในการแถลงข่าวภาวะสังคมประจำไตรมาสที่ 4/2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยรายงานเรื่อง “การพัฒนา Generation Y เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศ” ซึ่งถือเป็น “ซีรี่ส์” ต่อเนื่องของงานศึกษาของ สศช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศ
“จินางค์กูร โรจนนันต์” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การศึกษาเกี่ยวกับประชากรกลุ่ม Generation Y หรือ “Gen Y” นี้ สศช.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ศึกษาในหลายมิติ โดยส่วนที่เผยแพร่พร้อมกับภาวะสังคมไตรมาสที่ 4/62 ก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อหาแนวทางพัฒนาให้คน Gen Y หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 2523-2540 ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังแรงงานหลักของประเทศในปัจจุบันและในระยะต่อไป เป็นแนวโน้มเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆทั่วโลก
นอกจากนี้ สศช.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการจัดวางโครงสร้างสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับลักษณะการทำงานและการใช้ชีวิตของคน Gen Y มากขึ้น ว่าจะเป็นลักษณะรัฐจัดการ เป็นลักษณะการร่วมจ่าย หรือว่าจ้างให้เอกชนดำเนินการจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะรายงานผลการศึกษาภายในปีนี้
“ข้อมูลชี้ให้เห็นประเด็นที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของคน Gen Y และชี้ให้เห็นว่าเขาจะต้องพัฒนาในส่วนใดบ้าง เพราะไม่เช่นนั้นหากเขาดูแลตัวเองไม่ได้จะดูแลผู้สูงอายุและคนรุ่นถัดไปได้อย่างไร เมื่อมีแนวทางแล้วเขายังมีเวลาในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างครอบครัวของตัวเอง รวมถึงการที่เขาต้องเก่งขึ้น มีทักษะต่างๆ มีรายได้ให้สูงขึ้น เป็นกำลังสำคัญของประเทศ” จินางค์กูร กล่าว

10 ลักษณะคน Gen Y
จากการทบทวนข้อมูลพบว่า คน Gen Y มีลักษณะเด่น ได้แก่ จะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นมากกว่าคน Gen อื่น มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี มีทักษะสูงเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีพฤติกรรมการทำงานที่เน้นความเป็นอิสระในการทำงานและสามารถจัดระบบการทำงานเองได้ มีการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น มีแนวโน้มการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ขาดการตระหนักในเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคต แต่งงานช้าและให้ความสำคัญกับการมีบุตรน้อยลง และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพน้อย


คนเจนวายกับการขับเคลื่อนประเทศ
จากลักษณะของคน Gen Y ข้างต้น จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ดังนี้
1.การครองโสดมากขึ้นและไม่นิยมมีบุตรของคนเจนวายเนื่องจากรักอิสระ ต้องการทำงานเพื่อประสบความสำเร็จ และการมีสังคมกับเพื่อนฝูง ส่งผลให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง และอัตราส่วนการพึ่งพิง (Dependency Ratio) ของประชากรที่ไม่ได้ทำงานต่อประชากรที่ทำงานสูงขึ้น ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงาน และการมีภาระทางการเงินการคลังเพิ่มขึ้นจากการมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น
2.จำนวนแรงงานที่ลดลงส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยจำนวนคน Gen Y จะไม่สามารถทดแทนประชากรสูงอายุที่ออกจากตลาดแรงงานได้ และการจะรักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แรงงานจะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง
3.รูปแบบการทำงาน ที่เป็นอิสระ ต้องการสร้างสมดุลการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของคน Gen Y ทำให้คน Gen Y มีแนวโน้มของรายได้ไม่แน่นอน และขาดหลักประกันในการทำงาน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สินส่วนบุคคล ครัวเรือน และความยั่งยืนของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ
4.พฤติกรรมการบริโภค และการใช้ชีวิต มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้สูญเสียกำลังคนในการพัฒนาประเทศ หรือมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลกลุ่มผู้พิการเพิ่มขึ้น

ข้อเสนอแนะการยกระดับศักยภาพคน Gen Y
จากการศึกษาสศช. ได้มีข้อเสนอแนะที่จะยกระดับศักยภาพ และการมีโครงสร้างพื้นฐานทางนโยบายที่จะเอื้อให้คน Gen Y สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนของประเทศได้ ดังนี้
1.การพัฒนาระบบสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คน Gen Y สามารถทำหน้าที่ในการดูแลบุตร และผู้สูงอายุได้ดีขึ้น ขณะที่ยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เพิ่มบทบาทของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตรและรับผิดชอบครอบครัวให้มากขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้หญิงตัดสินใจมีบุตรโดยที่ยังมีความก้าวหน้าทางอาชีพได้ การมีสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานดูแลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีราคาที่สมเหตุสมผล การจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไว้วางใจได้ในที่ทำงาน ตลอดจนสนับสนุนให้มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
2.การปรับหลักสูตร การส่งเสริมการยกระดับทักษะ (Up-skill) และการปรับเปลี่ยนทักษะ (Re-skill) รวมถึงทักษะอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่สอดรับกับการพัฒนาประเทศ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานที่เทคโนโลยีไม่สามารถเรียนรู้ได้ และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเข้ามากระทบ ขณะเดียวกันต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษา และการฝึกอบรมที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ
3.การสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยมีระบบหลักประกันการทำงานที่ตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปของคน Gen Y การสร้างระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงในชีวิตยามเกษียณ อาทิ การส่งเสริมการออมภาคบังคับ รวมถึงจะต้องสร้างทักษะทางด้านการเงิน และ
4.การส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดี โดยส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะที่ถูกต้องเหมาะสมครอบคลุมกิจกรรม ทั้งการให้ความรู้และการพัฒนาพฤติกรรม โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการติดตามและชักจูงให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งการแก้ไขปัญหาทางกายภาพของถนน และยานพาหนะให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

